กรดไหลย้อน โรคระบบทางเดินอาหาร โรคกรดไหลย้อนเป็นอย่างไร สาเหตุของโรค อาการโรคกรดไหลย้อน การรักษาทำอย่างไร วิธีการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจาก โรคกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อน โรคในระบบทางเดินอาหาร ที่ใครๆคุ้นหู วันนี้เรามาเล่า เรื่องเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อน ให้ฟังกันว่า เป็นอย่างไร สาเหตุของโรค อาการโรคกรดไหลย้อน การรักษาโรคกรดไหลย้อน ทำอย่างไร โรคของคนรุ่นใหม่ อธิบายถึงอาการของกรดไหลย้อน วิธีการดูแลรักษาตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคกรดไหลย้อน การดูแลและรักษาผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อนหากมีอาการแสบร้อนกลางอกและมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขม กลืนลำบาก หายใจไม่อิ่ม ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
โรคกรดไหลย้อน ภาษาอังกฤษ เรียก Gastro Esphageal Reflux เรียกย่อๆ ว่า GERD โรคนี้ เรียก ว่า โรคการไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมาหลอดอาหาร โรคกรดไหลย้อน หมายถึง ภาวะของน้ำย่อยที่มีฤทธ์เป็นกรดที่อยู่ในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหาร เมื่อกรดเข้าสู่หลอดอาหารจะทำให้เกิดอาการอักเสบ
โดยปรกติแล้วหลอดอาหารจะมีการบีบตัวเพื่อไล่อาหารลงด้านล่างและมีหูรูด ที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำย่อยไหลย้อนกลับมา เมื่อหูรูดประสิทธิภาพการทำงานน้อยลง ทำให้กรดไหลย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหาร โรคกรดไหลย้อนนี้ สามารถพบได้กับคนทุก ช่วงอายุ ทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งจากสถิติพบว่า มีคนเป็นโรคนี้ร้อยละ 20 และสามารถพบว่าผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้ คือ คนอ้วนและคนสูบบุหรี่ โรคกรดไหลย้อนสามารถส่งผลเสียต่อ กล่องเสียง ลำคอ และปอดได้ ในกรณีที่มีอาการเรื้อรังมีโอกาสเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ โรคกรดไหลย้อน สามารถแบ่งระดับของโรคได้ 3 ระยะ คือ ระยะแรก ระยะที่สองและระยะที่สาม รายละเอียด ดังนี้
- โรคกรดไหลย้อน ระยะแรก เรียก Gastro Esophageal Reflux เรียกย่อว่า GER ในระยะนี้ ผู้ป่วยเป็นๆหายๆ อาการไม่รุนแรง ไม่มีผลต่อสุขภาพ
- โรคกรดไหลย้อน ระยะที่สอง เรียก Gastro Esophageal Reflux Disease เรียกย่อว่า GERD ในระยะนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการมากขึ้น โดยเฉพาะอาการที่หลอดอาหาร
- โรคกรดไหลย้อน ระยะที่สาม เรียก Laryngo Pharyngeal Reflux เรียกย่อว่า LPR ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมาก จนถึงกล่องเสียงและหลอดลม
สาเหตุของการเกิดโรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อนเป็นความผิดปรกติของระบบทางเดินอาหาร ในส่วนหูรูดของหลอดอาหาร ที่อยู่ระหว่างรอยต่อระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดโรคกรดไหลย้อน เกิดจากปัจจัยต่างๆ ประกอบด้วย
- นอนหลังจากกินอาหารไม่ถึง 4 ชั่วโมง เนื่องจากการย่อยยังไม่เสร็จ เมื่อนอนก็เกิดการย้อยกลับของอาหารเข้าสู่หลอดอาหาร
- เกิดจากกระเพาะอาหารส่วนต้น ยื่นเข้าไปกะบังลม
- การสูบบุหรี่
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
- การดื่มน้ำอัดลม
- การรับประทานอาหารทอด ของมัน หรืออาหารรสเปรี้ยวหรือเผ็ดจัด
อาการของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน
อาการของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนจะมีอาการ เสียงแหบ ซึ่งเป็นอาการแหบที่มากกว่าปกติ แต่ผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดอาหาร มีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณหน้าอก เนื่องจากกรดเข้าไปทำให้หลอดอาหารอักเสบ มีอาการจุกเสียด และแน่นหน้าอก หายใจไม่ออกเวลานอน กลืนอาหารลำบาก เจ็บคอเวลากลืนอาหาร คลื่นไส้ มีอาการเรอ ซึ่งการเรอนั้นจะมีกลิ่นเปรี้ยวและรสขม
การรักษาโรคกรดไหลย้อน
การรักษาโรคกรดไหลย้อนนั้น สามารถทำการรักษาโดยการใช้ยารักษา การผ่าตัดและการปรับพฤติกรรมส่วนตัว โดยรายละเอียดดังนี้
- การรักษาโรคกรดไหย้อนโดยใช้ยา ซึ่งวิธีนี้จะได้ผลดีที่สุด เมื่อเกิดอาการอักเสบที่ของหลอดอาหาร ดดยใช้ยาลดกรด ใช้สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง การใช้ยานั้นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
- การรักษาโรคกรดไหลย้อนโดยการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดผูกหูรูดกระเพาะอาหาร เพื่อป้องกันอาการกรดไหลย้อน วิธีนี้จะใช้รักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
- การรักษาโดยการปรับพฤติกรรม เป็นวิธีการรักษาที่ยั่งยืนที่สุด ซึ่งพฤติกรรมใดๆที่มีส่วนทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนให้เลิกกระทำทั้งหมด เช่น การทานอาหารมากเกินไป การนอนหลังจากรับประทานอาหารเลย การกินอาหารที่มีรสจัด การปรับท่านอน เลิกสูบบุหรี่ และดื่มสุรา เป็นต้น
วิธีบรรเทาอาการโรคกรดไหลย้อน
- ลดความอ้วน เนื่องจากไขมันในช่องท้องและไขมันรอบพุง มีส่วนเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้กรดไหลย้อนได้ง่าย
- ลดเครียด เนื่องจาก ความเครียดจะทำให้เกิดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหามากขึ้นได้
- เลิกบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่สามารถเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารได้
- ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดเกินไป การใส่เสื้อผ้ารัดมากจะช่วยให้การบีบรัดตัวของดันของกระเพาะอาหารมากขึ้น
- ระวังเรื่องท้องผูก การถ่ายอุจจาระในขณะเกิดภาวะท้องผูกจะเพิ่มแรงดันในกระเพาอาหาร
- ระวังเรื่องการไอ เนื่องจากการไปจะทำให้ช่องท้องเกรงเพิ่มแรงดันที่ช่องท้อง
- ไม่รับประทานอาหารอิ่มเกิน เนื่องจาก อาหาร น้ำ และลมในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นมาก
- รับประทานอาหารในมิ้อค่ำ ให้น้อยลง
- ไม่ยกของหนัก การยกของหนักทำให้เกิดการเกร็งที่ลำตัว เพิ่มการบีบรัดของกระเพาอาหาร
- ลดการดื่มน้ำอัดลม
- ปรับท่านอนให้หัวสูงขึ้นลำตัวลาดลง ช่วยลดการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหาร
ข้อปฏิบัติต่างๆเหล่านี้ สามารถช่วยให้บรรเทาการเกิดโรคกรดไหลย้อนได้ ซึ่งจากรายละเอียดที่กล่าวมา ปัญหาของโรคกรดไหลย้อนเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เมื่อเกิดอาการผิดปรกติแล้วก็ต้องดูแลตัวเองให้หายจากโรคกรดไหลย้อน ซึ่งการรักษานั้น ต้องใช้เวลานาน ค่อยเป็นค่อยไป
กรดไหลย้อน อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคกรดไหลย้อน 25 วิธี !!
โรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน, โรคน้ำย่อยไหลกลับ, โรคกรดไหลกลับ หรือ โรคเกิร์ด (Gastroesophageal reflux disease – GERD) หมายถึง ภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดไหลย้อนกลับขึ้นไประคายเคืองในหลอดอาหารและลำคอ ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก ลำคอ และกล่องเสียงอักเสบ
กรดไหลย้อน เป็นโรคที่พบได้ประมาณ 10-15% ของผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อย (Syspepsia) เป็นโรคที่พบได้ในคนทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยจะพบอัตราการเกิดสูงขึ้นในคนที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป (พบสูงสุดในคนอายุ 60-70 ปีขึ้นไป) แต่ก็อาจพบได้ในเด็กเล็กและคนวัยหนุ่มสาวได้ด้วยเช่นกัน ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ใกล้เคียงกัน
มีรายงานว่า ในคนตะวันตกจะพบโรคนี้ได้ประมาณ 10-20% ของประชากร ส่วนในสหรัฐอเมริกาพบคนที่มีอาการของโรคนี้ประมาณ 25-40% โดยคาดว่าเมื่อคนมีอายุยืนยาวมากขึ้นก็จะพบโรคนี้ได้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน
เกิดจากภาวะหย่อนสมรรถภาพของหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหาร (Lower esophagel sphincter – LES) ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดส่วนนี้ปิดไม่สนิท จึงเปิดช่องให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารและลำคอ น้ำย่อยซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุของอวัยวะเหล่านี้ ทำให้เกิดอาการไม่สบายและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา
โดยภาวะปกติในขณะที่เรากลืนอาหารนั้น กล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารนี้จะหย่อนคลายตัวเพื่อเปิดให้อาหารไหลผ่านลงไปในกระเพาะอาหาร เมื่ออาหารไหลผ่านลงไปกระเพาะจนหมดแล้ว หูรูดนี้ก็จะหดรัดตัวเพื่อปิดกั้นไม่ให้อาหารและน้ำย่อยซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารจนทำอันตรายต่อเยื่อบุหลอดอาหารได้
สาเหตุที่ทำให้หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารหย่อนสมรรถภาพนั้น ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากความเสื่อมตามอายุหรือหูรูดยังเจริญไม่เต็มที่ (ในทารก) หรือมีความผิดปกติโดยกำเนิด
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน ได้แก่
- หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารเสื่อมตามอายุหรือหูรูดยังเจริญได้ไม่เต็มที่ (ในทารก) ในผู้สูงอายุ เซลล์ต่าง ๆ ทุกชนิดของร่างกายรวมทั้งหูรูดและของกระเพาะอาหารจะค่อย ๆ เสื่อมลง ดังนั้นจึงทำให้หูรูดนี้หย่อนสมรรถภาพลง อาหารและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารจึงดันย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหารได้ง่าย ส่วนในเด็กทารกจะเกิดจากหูรูดส่วนนี้ยังเจริญไม่เต็มที่ การทำงานจึงหย่อนยาน เด็กทารกจึงมีการขย้อนนมและอาหารออกมาได้ แต่อาการต่าง ๆ มักจะหายไปเองเมื่อเด็กโตขึ้น เพราะกล้ามเนื้อหูรูดจะเริ่มแข็งแรงมากขึ้นแล้ว
- มีปริมาณกรดค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ เนื่องจากกลไกในการกำจัดกรดในหลอดอาหารผิดปกติ เช่น มีน้ำลายน้อย หรือการบีบตัวของหลอดอาหารผิดปกติ (ทำให้อาหารที่รับประทานลงช้าหรืออาหารที่ไหลย้อนกลับขึ้นมาจากเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ)
- กระเพาะอาหารบีบตัวลดลงเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น จากอายุที่สูงมากขึ้น (เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป เซลล์ต่าง ๆ ทุกชนิดของร่างกายรวมทั้งหูรูดและของกระเพาะอาหารจะค่อย ๆ เสื่อมลง), จากการอักเสบของกระเพาะอาหารหรือของเส้นประสาทกระเพาะอาหาร จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด (เช่น ยาทางจิตประสาท), จากการได้รับสารบางอย่างที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดในหลอดอาหารคลายตัว (เช่น แอลกอฮอล์, สะระแหน่) จึงส่งผลให้เกิดการคั่งของอาหารและน้ำย่อยนานกว่าปกติ ซึ่งจะเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหารดันให้หูรูดนี้เปิดออก อาหารหรือน้ำย่อยจึงไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหาร
- การมีแรงดันในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น จึงดันให้หูรูดเปิดหรือปิดไม่สนิท ทำให้อาหารหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหาร เช่น อาการไอ โดยเฉพาะการไอเรื้อรัง, การตั้งครรภ์, โรคอ้วน, การรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมาก, หลังรับประทานอาหารเสร็จแล้วนอนเลย, การรับประทานอาหารประเภทที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน (เช่น อาหารมัน) เป็นต้น
- มีปัจจัยที่ส่งเสริมให้ภาวะกรดไหลย้อนเกิดบ่อยและนานขึ้น เช่น การมีไส้เลื่อนกะบังลมขนาดใหญ่, การมีปริมาตรของกระเพาะเพิ่มมากขึ้น, กระเพาะอาหารขยายตัวมากขึ้น, กระเพาะมีกรดหรือสิ่งคัดหลั่งมากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคกรดไหลย้อนกำเริบ
- อายุ ดังที่กล่าวมาแล้วว่า เมื่อมีอายุสูงมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดโรคนี้ก็ยิ่งสูงมากขึ้นตามไปด้วย
- การรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมาก (อิ่มมากเกินไป) ซึ่งจะกระตุ้นให้มีน้ำย่อยหลั่งออกมามาก
- การนอนราบ การนั่งงอตัว หรือโค้งตัวลงต่ำ เพราะจะเป็นการเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารและน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารและลำคอได้ง่าย
- การรัดเข็มขัดแน่นหรือใส่กางเกงคับเอว เพราะจะเป็นการเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร ทำให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปได้ง่าย
- การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- อาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดในหลอดอาหารคลายตัว เช่น แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต สะระแหน่ เปปเปอร์มินต์
- อาหารประเภทที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน เช่น ไขมัน มันฝรั่งทอด มันเผาหรือมันต้ม อาหารผัดหรืออาหารทอดที่อมน้ำมัน
- อาหารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสจัด เผ็ดจัด เครื่องดื่มและอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น ผลไม้เปรี้ยว น้ำผลไม้รสเปรี้ยว (น้ำส้มคั้น) น้ำมะเขือเทศ
- อาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดแก๊สมาก เช่น กระเทียม หัวหอม น้ำอัดลม
- เครื่องดื่มกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคล่า ยาชูกำลังที่มีสารกาเฟอีน ฯลฯ เพราะจะกระตุ้นให้น้ำย่อยหลั่งออกมามากขึ้น
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม ยาแอนติโคลิเนอร์จิก ยาทางจิตประสาท ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตาและกลุ่มต้านแคลเซียม ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นต้น เพราะจะเสริมให้หูรูดหย่อนคลายตัวหรือน้ำย่อยหลั่งออกมามากขึ้น
- การสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่จะเพิ่มกรดในกระเพาะอาหารและอาจทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารลดลง
- ความเครียด เพราะความเครียดมีส่วนทำให้หลั่งกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น
- เบาหวาน เมื่อเป็นโรคนี้นาน ๆ จะมีการเสื่อมของประสาทกระเพาะ ทำให้กระเพาะอาหารขับเคลื่อนช้า จึงทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้
- โรคอ้วน เพราะจะทำให้มีความดันในช่องท้องสูงขึ้น ความดันในกระเพาะอาหารจึงสูงขึ้นตามไปด้วย
- การตั้งครรภ์ เพราะจะเป็นการเพิ่มความดันในกระเพาะอาหารจากครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น
- โรคหืด เชื่อว่าเป็นผลมาจากการไอและหอบ ทำให้เพิ่มแรงดันในช่องท้องจึงเกิดภาวะกรดไหลย้อน รวมทั้งการใช้ยาขยายหลอดลมก็มีส่วนทำให้หูรูดหย่อนด้วย
- โรคถุงลมโป่งพอง เพราะเป็นโรคที่ส่งผลให้มีการไอเรื้อรัง
- การมีไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal hernia, Diaphragmatic hernia ซึ่งมีกระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนลงไปที่กะบังลม) ขนาดใหญ่ ทำให้หูรูดอ่อนแอมากขึ้น
- แผลเพ็ปติก (Peptic ulcer) แผลหรือรอยแผลที่เป็นปลายกระเพาะอาหารหรือการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์ฝิ่น ทำให้อาหารขับเคลื่อนสู่ลำไส้ได้ช้าลง จึงทำให้มีกรดไหลย้อนได้
- โรคกล้ามเนื้อและ/หรือของเนื้อเยื่อต่าง ๆ (พบได้น้อย) ที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อและ/หรือเนื้อเยื่อหลอดอาหารและกระเพาะอาหารมีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง
อาการของโรคกรดไหลย้อน
- ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบตรงลิ้นปี่หรือยอดอก เรียกว่า อาการแสบร้อนกลางอก (Heartburn) ซึ่งเป็นอาการสำคัญของโรคนี้ แต่พบในคนปกติเป็นครั้งคราวได้ โดยอาการนี้จะเกิดขึ้นหลังการรับประทานอาหารเข้าไปในปริมาณมาก ประมาณ 30-60 นาที หรือหลังรับประทานอาหารแล้วล้มตัวลงนอนราบ นั่งงอตัว หรือโค้งตัวลงต่ำ มีการรัดเข็มขัดแน่นหรือใส่กางเกงคับเอว โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ซึ่งแต่ละครั้งมักจะมีอาการปวดนานประมาณ 2 ชั่วโมง ในบางรายอาจมีอาการปวดแสบร้าวจากยอดอกขึ้นไปถึงคอหอย คล้ายโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) หรือมีอาการจุกแน่นยอดอกคล้ายอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ หรือเรอบ่อย
- บางรายอาจมีอาการขย้อนอาหารหรือเรอเอาน้ำย่อยรสเปรี้ยวขึ้นไปที่คอหอย หรือรู้สึกมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในปากหรือคอ หรือหายใจมีกลิ่น
- บางรายตอนตื่นนอนอาจรู้สึกขมคอ เปรี้ยวปาก อาจมีเสียงแหบ (เนื่องจากน้ำย่อยระคายเคืองจนกล่องเสียงอักเสบ) เจ็บคอ แสบลิ้น หรือไอเรื้อรัง (เนื่องจากน้ำย่อยระคายเคืองคอหอยและหลอดลม) เรอบ่อย (เนื่องจากภาวะมีน้ำย่อยและอาหารบางส่วนค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร) ซึ่งผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์เนื่องจากอาการเหล่านี้แบบเรื้อรัง
- ในรายที่มีภาวะกรดไหลย้อนรุนแรง (ไหลขึ้นไปถึงปากและคอหอย) อาจมีอาการกระแอมไอบ่อย หรือรู้สึกมีเสมหะอยู่ในคอหรือระคายคอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรับประทานอาหารหรืออยู่ในท่านอนราบ
- บางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น มีอาการกลืนอาหารแข็งลำบาก เนื่องจากปล่อยให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรังจนตีบตัน
- ในรายที่มีภาวะกรดไหลย้อนเพียงเล็กน้อย อาจไม่มีอาการผิดปกติแสดงออกมาให้เห็นก็ได้
- ส่วนในทารกอาจเป็นโรคกรดไหลย้อนตั้งแต่แรกเกิดได้ เนื่องจากหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารยังเจริญไม่เต็มที่ ทารกจึงมักมีอาการงอแง ร้องกวน อาเจียนบ่อย ไอบ่อยตอนกลางคืน เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงวี้ด เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวไม่ขึ้น ทารกบางรายอาจสำลักน้ำย่อยเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบ ซึ่งอาจกำเริบได้บ่อย แต่อาการมักจะหายไปเมื่ออายุได้ประมาณ 6-12 เดือน แต่บางรายก็อาจรอจนถึงเข้าสู่วัยรุ่นอาการจึงจะดีขึ้น ส่วนในเด็กโตมักจะมีอาการคล้ายกับผู้ใหญ่
ภาวะแทรกซ้อนของโรคกรดไหลย้อน
แม้ว่าโรคกรดไหลย้อนจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็จัดเป็นโรคเรื้อรังที่น่ารำคาญและสร้างความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป เนื่องจากผู้ป่วยที่รู้จักปฏิบัติตัวและคอยใช้ยาควบคุมอาการอยู่เสมอ มักจะไม่ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่ถ้าปล่อยปละละเลยก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น
- หากปล่อยไว้ให้เป็นเรื้อรังนาน ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ที่พบบ่อยก็คือ หลอดอาหารอักเสบ(Esophagitis) ซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกในขณะกลืนอาหาร
- หากไม่ได้รับการรักษา ต่อมาอาจกลายเป็นแผลหลอดอาหาร (Esophageal ulcer) ได้ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออก เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ เป็นต้น และในที่สุดอาจเกิดภาวะหลอดอาหารตีบ (Esophageal stricture) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลืนอาหารลำบาก อาเจียนบ่อย จำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้เครื่องมือถ่างหลอดอาหารเป็นครั้งคราว และถ้าเป็นมากอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารจนกลายเป็นหลอดอาหารบาร์เรตต์ (Barrett’s esophagus) ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้ด้วยการส่องกล้องลงไปที่หลอดอาหารและนำชิ้นเนื้อไปพิสูจน์ ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ประมาณ 2-5% ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลืนอาหารลำบาก เจ็บเวลากลืนอาหาร อาเจียนบ่อย น้ำหนักตัวลดลง
- ในรายที่มีกรดไหลย้อนถึงคอหอยและหลอดลม น้ำย่อยไหลจะเข้าไประคายเคืองต่อหลอดลม อาจทำให้กลายเป็นคออักเสบ หลอดลมอักเสบ (เจ็บคอไอเรื้อรัง) กล่องเสียงอักเสบ (เสียงแหบ ตรวจพบสายเสียงบวมแดง) โรคหืดกำเริบ
- อาจทำให้โรคทางปอดแย่ลง เช่น ไอเรื้อรัง ปอดอักเสบ โรคหอบหืดเป็นมากขึ้น
- ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่ ปอดอักเสบจากการสำลักน้ำย่อยเข้าไปในปอด (Aspiration pneumonia) ซึ่งพบได้บ่อยในทารกอายุ 1-4 เดือน
- นอกจากนี้โรคกรดไหลย้อนยังเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง มะเร็งกล่องเสียง และผิวฟันผุกร่อนจากการกัดของน้ำย่อยเป็นเวลานาน
การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ในเบื้องต้นได้จากลักษณะอาการที่แสดงดังกล่าว การตรวจลำคอ การตรวจร่างกาย การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์เพื่อแยกจากโรคปอดต่าง ๆ การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อแยกออกจากสาเหตุอื่น ๆ ให้แน่ชัด เช่น แผลเพ็ปติก มะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจมีอาการที่คล้ายกับโรคกรดไหลย้อน (สำหรับโรคกรดไหลย้อน อาจตรวจพบร่องรอยการอักเสบของหลอดอาหาร แผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารบาร์เรตต์ แต่ถ้าเป็นในระยะแรกเริ่มก็อาจตรวจพบรอยโรคที่หลอดอาหารก็ได้) และอาจตัดชิ้นเนื้อในบริเวณที่ผิดปกติจากการส่องกล้องตรวจไปพิสูจน์เพื่อแยกจากโรคมะเร็งหลอดอาหาร และอาจมีการตรวจวิธีเฉพาะเพิ่มเติมอื่น ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง, การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์, การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร, การตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร (ให้ผลที่ไวในการวินิจฉัยโรคที่สุด) เป็นต้น
ในรายที่ไปพบแพทย์ทางโรคหู คอ จมูก ด้วยอาการเสียงแหบ เจ็บคอ ไอเรื้อรัง หรืออาการหอบหืดเป็นมากขึ้น เนื่องจากมีการไหลย้อนของน้ำย่อยไประคายเคืองที่กล่องเสียง คอหอย และหลอดลม แพทย์อาจวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการใช้เครื่องมือตรวจพบสายเสียงบวมแดง
วิธีรักษาโรคกรดไหลย้อน
- ถ้าเริ่มมีอาการในระยะแรก แพทย์จะให้รับประทานยาต้านกรดหรือยาลดกรด (Antacids) ร่วมกับยาลดการสร้างกรดกลุ่มต้านเอช 2 (H2 antagonist) เช่น รานิทิดีน (Ranitidine) ครั้งละ 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง หรือรับประทานครั้งเดียวในขนาด 300 มิลลิกรัม หลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน นาน 2 สัปดาห์ ถ้าอาการดีขึ้นให้รับประทานจนครบ 8 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นหรือมีอาการกำเริบ หรือน้ำหนักตัวลดลง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจหาสาเหตุ
- ผู้ป่วยที่มีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือเสียงแหบ เจ็บคอ หรือไอเรื้อรัง หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บหน้าอกเวลากลืนอาหาร กลืนลำบาก หายใจลำบาก อาเจียน ซีด ตาเหลือง น้ำหนักตัวลด คลำได้ก้อนในท้อง ถ่ายอุจจาระดำ เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง เป็นต้น หรือพบในทารกที่มีอาการอาเจียนบ่อย ไอบ่อย หรือน้ำหนักตัวไม่ขึ้น ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
- นอกจากยาต้านกรดหรือยาลดกรด (Antacids) และยาลดการสร้างกรดกลุ่มต้านเอช 2 (H2 antagonist) แล้ว แพทย์อาจให้ยากลุ่มออกฤทธิ์เพิ่มการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) ครั้งละ 1-2 เม็ด ก่อนอาหาร 15-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง, ดอมเพอริโดน (Domperidone) ชนิดเม็ดครั้งละ 1-2 เม็ด หรือชนิดน้ำครั้งละ 1-2 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร 30 นาที และก่อนนอน แต่ถ้าไม่ได้ผล แพทย์จะให้ยาลดการสร้างกรดกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊มป์ (Proton-pump inhibitor) เช่น โอเมพราโซล (Omeprazole) ขนาด 20 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง ก่อนอาหาร นาน 4-8 สัปดาห์ แต่ในบางรายอาจต้องให้นาน 3-6 เดือน โดยเฉพาะในรายที่เป็นมากหรือมีอาการมานาน
- โรคนี้มักจะมีอาการกำเริบได้เป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้โรคกำเริบ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ (แต่ถ้ายังมีอาการกำเริบขึ้นมาอีก ให้รับประทานยาเป็นครั้งคราวไปเรื่อย ๆ)
- โรคนี้มักมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ควรใช้ยาช่วยควบคุมอาการเป็นระยะ ๆ และควรรับประทานทันทีที่อาการเริ่มกำเริบ
- หมั่นสังเกตตนเองว่าเมื่อบริโภคอาหารชนิดใดและปริมาณเท่าใดแล้วทำให้อาการกำเริบหรือก่อให้เกิดอาการมากขึ้น(เป็นเพราะแต่ละคนจะไวต่ออาหารได้แตกต่างกันไป) แล้วพยายามหลีกเลี่ยงหรือจำกัดการบริโภคสิ่งนั้น โดยเฉพาะกับอาหารมัน อาหารรสเผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัด แอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม เป็นต้น
- กรดไหลย้อนห้ามกินอะไร ? หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมัน อาหารเผ็ด แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน ชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้เปรี้ยว ผลไม้เปรี้ยว ซอสมะเขือเทศ ช็อกโกแลต กระเทียม หัวหอม สะระแหน่ การสูบบุหรี่ และการรับประทานยาบางชนิด (เช่น ยาขยายหลอดลม ยาทางจิตประสาท ยาแอนติโคลิเนอร์จิก ยาต้านแคลเซียม)
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในปริมาณครั้งละมาก ๆ และดื่มน้ำมาก ๆ ในระหว่างรับประทานอาหาร แต่ควรเปลี่ยนมารับประทานอาหารในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้งแทน รับประทานอาหารให้ช้าและเคี้ยวให้ละเอียด ส่วนอาหารมื้อเย็นควรรับประทานในปริมาณน้อย ๆ หลีกเลี่ยงอาหารเสี่ยง และทิ้งช่วงห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
- หลังรับประทานอาหารเสร็จ ไม่ควรนอนราบ นั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ หรือก้มหยิบของ (ให้นั่งตัวตรงหรือยืนแทน) ควรนอนในท่าเอนตัวเสมอ ปลดเข็มขัดและตะขอกางเกงให้หลวม และไม่ควรยกของหนักและออกกำลังกาย แต่ต้องรอให้อาหารย่อยผ่านกระเพาะอาหารไปก่อนประมาณ 2-3 ชั่วโมงหลังการรับประทานอาหาร
- เคี้ยวหมากฝรั่งหลังอาหาร เพราะการเคี้ยวหมากฝรั่งจะทำให้มีน้ำลายมากซึ่งจะไปช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหารและหลอดอาหารได้ (ควรหลีกเลี่ยงหมากฝรั่งรสเปปเปอร์มินต์)
- สวมใส่เสื้อผ้าหลวมสบายตัว ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปหรือรัดเข็มขัดจนแน่นเกินไป เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มความดันต่อกระเพาะอาหาร
- ในรายที่อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน ควรหาทางลดความอ้วนและควบคุมน้ำหนักอย่างเหมาะสม
- ถ้ามีอาการกำเริบตอนเข้านอน ควรหนุนศีรษะให้สูง 6-10 นิ้ว โดยการหนุนขาเตียงด้านศีรษะให้สูงหรือใช้อุปกรณ์พิเศษสอดใต้ที่นอนให้เอียงลาดจากศีรษะลงมาถึงระดับเอว หรือใช้เตียงนอนที่มีกลไกปรับหัวเตียงให้สูงได้ ส่วนวิธีการหนุนหมอนให้สูงนั้นไม่แนะนำให้ทำ เพราะอาจจะทำให้ท้องโค้งงอ ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้นได้
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอและผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดมีส่วนทำให้หลั่งกรดมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้อาการกำเริบขึ้นมาได้
- รักษาและควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน เช่น โรคเบาหวาน โรคถุงลมโป่งพอง โรคอ้วน โรคของกะบังลม โรคกล้ามเนื้อหรือของเนื้อเยื่อต่าง ๆ แผลเพ็ปติก โรคหืด
- ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ เลวร้ายลงหรือผิดไปจากเดิม
- รีบไปพบแพทย์ฉุกเฉินเมื่ออาเจียนเป็นเลือดหรือไอเป็นเลือด, ไอมากหรือสำลักบ่อย, เจ็บคอมาก, เจ็บเวลากลืนหรือกลืนแล้วติด, เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง, อาเจียนหรือขย้อนอาหารบ่อยมาก, ปวดท้องอย่างรุนแรง, อุจจาระดำ (ลักษณะเหมือนยางมะตอย เพราะเป็นอาการมีเลือดออกในหลอดอาหารและ/หรือในกระเพาะอาหาร), อ่อนเพลีย ซีด และน้ำหนักตัวลดอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีสาเหตุ
- ในรายที่รักษาด้วยยามาเป็นเวลานานแล้วและยังไม่สามารถควบคุมอาการหรือหยุดการใช้ยาได้ หรือเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาได้เป็นเวลานานและมีผลข้างเคียงจากยา หรือผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น หลอดอาหารตีบ หลอดอาหารอักเสบรุนแรง กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง โรคหืดกำเริบบ่อย หรือมีไส้เลื่อนกะบังลมขนาดใหญ่ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซม (ผูก) หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารด้วยวิธีส่องกล้องเข้าไปในช่องท้อง (Laparoscopic fundoplication) แต่บางรายแพทย์ก็อาจให้การรักษาด้วยวิธีการใช้ความร้อนจากคลื่นวิทยุ (Radiofrequency therapy) เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อตรงส่วนปลายของหลอดอาหาร ทำให้เกิดแผลเป็นดึงรั้งให้หูรูดหดแน่น ซึ่งจะช่วยให้อาการทุเลาลงได้
- สมุนไพรรักษาโรคกรดไหลย้อน มีหลายชนิด เช่น
- กะเพรา (Ocimum tenuiflorum L.) ให้ใช้กะเพรา 1 กำ (ทั้งต้นและใบ ถ้าเป็นกะเพราแดงจะได้ผลดีกว่า) หรือประมาณ 1 ขีด นำมาล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นให้ใส่น้ำ 2-3 ลิตรลงในหม้อต้มแล้วนำกะเพราใส่ลงไปทั้งหมด ปิดฝาหม้อ ใช้ไฟปานกลางค่อนข้างอ่อน ต้มนานประมาณ 20 นาที (ควรกะปริมาณไฟที่ต้มให้น้ำเดือดภายใน 15-20 นาที) พอน้ำเดือดให้ปิดแก๊ส ใช้น้ำที่ได้มาดื่มหลังอาหารครั้งละ 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร) ส่วนที่เหลือไม่ต้องอุ่นหรือต้มซ้ำ แต่ให้ใช้วิธีแช่เย็นไว้ดื่มแทน (รอให้หายเย็นแล้วจึงค่อยดื่ม) ถ้าอาการหนักให้ดื่มประมาณ 6-8 แก้ว และหลังจากวันแรกที่ดื่ม ถ้าอาการทุเลาให้ลดปริมาณน้ำกะเพราลง ดื่มเฉพาะหลังอาหารมื้อละ 1-2 แก้ว แต่ไม่ควรเกิน 4 แก้วต่อวัน
- กระเจี๊ยบเขียว (Abelmoschus esculentus (L.) Moench) ใช้ฝักกระเจี๊ยบมาต้มในน้ำเกลือแล้วใช้รับประทานแก้อาการ
- ขมิ้นชัน (Curcuma longa L.) เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาอาการท้องอืดและช่วยขับน้ำดีเพื่อย่อยไขมัน จึงทำให้อาหารไม่ตกค้างในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กนานเกินไป อีกทั้งยังช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย โดยให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชาสำหรับแบบผง หรือครั้งละ 3 แคปซูล (แคปซูลละ 500 มิลลิกรัม) ก่อนอาหารประมาณ 30 นาที-1 ชั่วโมง วันละ 4 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน
- ขึ้นฉ่าย (Apium graveolens L.) ช่วยบำรุงระบบย่อยอาหารในร่างกายและช่วยลดอาการของโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ซึ่งรวมถึงโรคกรดไหลย้อน
- โทะ (Rhodomyrtus tomentosa (Aiton) Hassk.) ในประเทศมาเลเซียจะใช้รากและใบโทะ ต้มเป็นยารักษาอาการแสบยอดอกจากกรดไหลย้อน
- ลูกยอ (Morinda citrifolia L.) นำมาทำเป็นเครื่องดื่ม ใช้คู่กับหัวหญ้าแห้วหมู อย่างแรกให้เลือกลูกยอห่าม นำมาหั่นเป็นแว่น ๆ ไม่บางหรือหนาจนเกินไป แล้วนำไปย่างไฟอ่อน ๆ (ปกติลูกยอจะมีกลิ่นเหม็น) โดยย่างให้เหลืองกรอบและย่างจนหมดกลิ่นเหม็นจริง ๆ จึงจะได้ตัวยาที่หอมน่ารับประทาน (การย่างนอกจากจะช่วยดับกลิ่นแล้วยังช่วยเพิ่มความเป็นด่างให้กับตัวยาด้วย จึงช่วยซับกรดและลดกรดได้อย่างมีประสิทธิภาพ) สำหรับหญ้าแห้วหมูให้เอาส่วนหัวใต้ดินที่เราเรียกว่าหัวแห้วหมู นำไปคั่วให้เหลืองและมีกลิ่นหอม เมื่อเสร็จแล้วให้ตั้งไฟต้มน้ำจนเดือดแล้วเอาตัวยาทั้งสองชนิดลงไปต้มพร้อมกัน ใส่น้ำตาลกรวดพอหวาน ทิ้งไว้สักพักแล้วยกลงจากเตา ตัวยาที่ได้นี้จะมีกลิ่นหอม รอจนอุ่นแล้วนำมารับประทาน ส่วนที่เหลือให้กรองเอาแต่น้ำแช่ไว้ในตู้เย็นแล้วค่อยอุ่นรับประทาน ให้ดื่มติดต่อกัน 1 สัปดาห์แล้วสังเกตอาการ (งานวิจัยระบุว่า สมุนไพรชนิดนี้มีสารสโคโปเลติน (Scopoletin) เป็นส่วนประกอบ สารชนิดนี้สามารถช่วยลดการอักเสบของหลอดอาหารจากการไหลย้อนของกรดได้ผลดีพอ ๆ กับยามาตรฐาน คือ รานิทิดีน (Ranitidine) และยาแลนโซพราโซล (Lansoprazole) เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการหลั่งของกรด ต้านการเกิดแผล และทำให้การบีบตัวของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น โดยมีผลต่อระบบประสาทที่เกี่ยวข้องโดยตรง อีกทั้งยังสามารถเพิ่มการดูดซึมของยารานิทิดีนได้ด้วย ลูกยอจึงเหมาะแก่การนำมาใช้เป็นสมุนไพรสำหรับรักษาอาการกรดไหลย้อนเป็นอย่างยิ่ง)
- หญ้าลิ้นงู (Oldenlandia corymbosa L.) ชาวอินเดียจะใช้หญ้าลิ้นงูทั้งต้นนำมาต้มในนมกับน้ำตาลเพื่อใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนที่หน้าอกอันเนื่องมาจากกรดไหลย้อน
- ว่านกาบหอย (Tradescantia spathacea Sw.) ให้ใช้ใบว่านกาบหอยแครงและใบเตยสด อย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำจนเดือด ใช้ดื่มต่างน้ำทั้งวัน วันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว โดยให้ผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา น้ำมะนาว 1 ช้อนชา และเกลือป่นอีกเล็กน้อย แล้วอาการของกรดไหลย้อนจะค่อย ๆ ดีขึ้น
- ย่านาง (Limacia triandra Miers) น้ำใบย่านางคั้นสดมีสรรพคุณหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือรักษาอาการกรดไหลย้อน
วิธีป้องกันโรคกรดไหลย้อน
- พยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง (ที่หลีกเลี่ยงได้) ดังที่กล่าวมา
- ควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิต และปฏิบัติตนตามคำแนะนำในหัวข้อวิธีรักษาโรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อนเป็นโรคที่ไม่รุนแรงและไม่ทำให้เสียชีวิตได้ แต่ก็จัดว่าเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตค่อนข้างมาก ส่วนการรักษาให้หายมักเป็นไปได้ยาก แต่การรักษาจะช่วยให้โรคสงบได้นานและช่วยชะลอหรือลดความรุนแรงของโรคได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรระลึกไว้เสมอว่า โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย แต่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตที่สุ่มเสี่ยงร่วมไปกับการรักษาจากแพทย์ในกรณีที่มีอาการต่อเนื่อง เพราะการรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวโดยไม่ปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต จะไม่สามารถควบคุมโรคกรดไหลย้อนที่เป็นอยู่ได้
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “โรคกรดไหลย้อน/เกิร์ด (Gastroesophageal reflux disease/GERD)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 533-536.
- ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “เกิร์ด (GERD) – โรคกรดไหลย้อน”. (รศ.ดร.สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.
- Siamhealth. “โรคกรดไหลย้อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.
- หาหมอดอทคอม. “กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com.
5. เว็บไซต์ MedThai
6. เว็บไซต์beezab.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น